การศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้
หลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ จัดกิจกรรมการศึกษาภูมิประเทศ ครั้งที่ ๒ โดยแบ่งเป็น ๒ เส้นทาง ได้แก่ ศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ในระหว่างวันที่ ๒๐ เม.ย. - ๒๖ เม.ย.๖๘ รายละเอียดดังนี้
•ศึกษาภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการเดินทาง การศึกษาดูงานภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ของนายทหารนักเรียน หลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ ในระหว่างวันที่ ๒๐ เม.ย. - ๒๒ เม.ย.๖๘
เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๘ คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ เดินทางไปยังจังหวัดอุดรธานี เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งจัดแสดงหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุด ค้น ที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วยกลุ่มภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลก ทางประวัติศาสตร์
———————————
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๘
วันที่ ๒ ของการศึกษาดูงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ เข้าฟังการยรรยายสรุปภารกิจของกองบิน ๒๓ และเยี่ยมชม static display อากาศยานพร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ ประจำกองบิน ๒๓ โดยมี นาวาอากาศเอก นทัย เมืองมณี ผู้บังคับการกองบิน ๒๓ ให้การต้อนรับ ณ กองบิน ๒๓ จังหวัดอุดรธานี อีกทั้ง ได้มีโอกาสเยี่ยมชม ณ ตลาดท่าเสด็จ ณ จังหวัดหนองคาย สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นศูนย์การค้าที่รวบรวมสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียไม่ว่าจะเป็นแถบลาว เวียดนาม จีน ต่อมาได้มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาวขึ้นตรงบริเวณท่าเรือสัญจรของตลาดสินค้าอินโดจีน ที่ใช้เป็นจุดผ่านแดนสำหรับผู้คนที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างไทยลาว
———————————————-
เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๘
วันที่ ๓ ของการศึกษาดูงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ เข้ารับฟังการบรรยายสรุปภารกิจที่สำคัญของศูนย์การฝึกกองทัพอากาศน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ของศูนย์การฝึกกองทัพอากาศน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
จากนั้น เดินทางไปเข้าชมและฟังบรรยายสรุป ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีศาสตราจารย์ ดร.วนิดา แก่นอากาศ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และการต่างประเทศ ให้การต้อนรับ ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาตร์ การศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในด้านการใช้ AI เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในงานด้านวิศวกรรม เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนาและควบคุมด้วย AI รวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคณะในการผลักดันนวัตกรรมที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการและเทคโนโลยีให้ก้าวไกลร่วมกัน
จากนั้นเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจาก ดร.ยุทธพล ทวะชาลี รองประธานอาวุโสหอการค้าขอนแก่น เพื่อทราบถึงภารกิจขององค์กรอันเป็นกลไกหลักของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่ดีและส่งเสริมการทำธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม เป็นกำลังสำคัญในการลดความเหลื่อมลํ้าและนำพาเศรษฐกิจของขอนแก่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน
————————————
เมื่อวันพุธที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๘
วันที่ ๔ ของการศึกษาดูงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ ในช่วงเช้าคณะนายทหารนักเรียนสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางและเป็นปากประตูสําคัญจากลุ่มแม่น้ำมูลไปสู่เมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชา และบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษาและเรียนรู้ทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
จากนั้น คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศรุ่นที่ ๖๙ ได้เข้าชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ณ จังหวัดนครราชสีมา รับฟังการบรรยายสรุปและชมกิจการขององค์การด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตอน ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาศักยภาพเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน หรือ “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมต่อการขยายฐานการให้บริการสู่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทยได้หลากหลายสาขาและตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
———————————————
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๘
วันที่ ๕ ของการศึกษาดูงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ เข้าฟังการบรรยายสรุปจากกองทัพภาคที่ ๒ โดยมี รองเสนาธิการ ทัพภาคที่ ๒ ให้การต้อนรับ บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่รับผิดชอบของทัพภาคที่ ๒ การใช้กำลังในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญที่ผ่าน โดยมีวัตุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานระหว่างเหล่าทัพในการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคงร่วมกัน
จากนั้น รับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมกิจการ กองบิน ๑ โดยมี นาวาอากาศเอก ดำรงค์ศักดิ์ ฟักขำ รองผู้บังคับการกองบิน ๑ พร้อมด้วย กำลังพลกองบิน ๑ ให้การต้อนรับ โดยได้บรรยายสรุป “ภารกิจหน้าที่ของกองบิน ๑ กับการรักษาความมั่นคง” และนำคณะเข้าเยี่ยมชมกิจการกองบิน ๑ โดยจัดแสดงอากาศยานพร้อมบรรยายสมรรถนะ ของอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งภาคพื้น และภาคอากาศ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสไปทัศนศึกษาศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา (ด่านเกวียน) เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำเครื่องปั้นดินเผา อันสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
————————————————
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๘
วันสุดท้ายของการศึกษาดูงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ เข้าชมกังหันลม เขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา และเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง (EGAT Learning Center , Lam Takong) เป็นโครงการที่ กฟผ. มุ่งทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงนำนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับอาคารศูนย์การเรียนรู้ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า
ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่อง “สมดุลพลังงาน” อันเป็นภารกิจที่ท้าทายของ กฟผ. ในการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวแสนม่วนซื่นของพื้นที่ลำตะคอง ซึ่งมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยความร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. และชุมชน เพื่อสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวลำตะคองอย่างยั่งยืน
-----------------------
ทีมกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ รร.สธ.ทอ.ยศ.ทอ.รุ่นที่ ๖๙