นายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศรุ่นที่ ๖๙ จัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการ รร.สธ.เหล่าทัพ “เสธ.สัมพันธ์” ประจำปี ๒๕๖๘ ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๘
กิจกรรมเสธ.สัมพันธ์ ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ การประสานงานและความรักสามัคคีระหว่างผู้เข้ารับการศึกษา รร.สธ.เหล่าทัพ และวิทยาลัยเสนาธิการทหาร จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยแบ่งออกเป็น ๓ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์ และกิจกรรมสังคม รายละเอียดดังนี้
ในส่วนของกิจกรรมทางวิชาการ มีการจัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “สงครามยุคใหม่กับการบูรณาการในทุกมิติการรบ เพื่อพัฒนาแนวคิดหลักนิยมกองทัพไทย” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากเหล่าทัพ ได้แก่ พล.ต.ดร.คมศักดิ์ เจียมวัฒนาเลิศ เสธ.วสท.สปท., พล.ต.เทวินทร์ เทศนธรรม รอง จก.ยก.ทบ., พล.ร.ท.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล รอง เสธ.ทร. และ พล.อ.ท.พิชิตไชย สุรกิจพิพัฒน์ รอง เสธ.ทอ. ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมทั้งจัดให้มีการสัมมนาระหว่างนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการเหล่าทัพ และหลักสูตรเสนาธิการร่วม เพื่อให้นายทหารนักเรียนได้แสดงวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำทางความคิด ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นระบบ ณ หอประชุมกองทัพอากาศ โดยมี รร.สธ.ทอ.ยศ.ทอ.เป็นเจ้าภาพ
กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์ มีการจัดการแข่งขันกีฬา ๔ ประเภท ได้แก่ แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล กอล์ฟ รวมถึงกิจกรรมกีฬาสันทนาการ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการเรียนรู้ด้านการวางแผน และพัฒนาศักยภาพทางกีฬา รวมถึงความมีน้ำใจนักกีฬาระหว่างกัน โดยมี รร.สธ.ทร.ยศ.ทร.ป็นผู้รับผิดชอบ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมสังคม “งานเลี้ยงเสธ.สัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๘” จัดขึ้น ณ สโมสรกองทัพบก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารนักเรียนเสนาธิการเหล่าทัพต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ร่วม และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและเสริมสร้างเครือข่ายในอนาคต พร้อมทั้งส่งมอบธงเจ้าภาพกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการ “เสธ.สัมพันธ์” ให้แก่ รร.สธ.ทบ.ยศ.ทบ. ต่อไป
-------------------------------------------
ทีมกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ รร.สธ.ทอ.ยศ.ทอ.รุ่นที่ ๖๙
อ่านเพิ่มเติม: กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการ รร.สธ.เหล่าทัพ “เสธ.สัมพันธ์” ประจำปี ๒๕๖๘
การศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทางเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น (สาย ๒)
หลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ จัดกิจกรรมการศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น ๒ เส้นทาง ได้แก่ ศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทางญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ (สาย ๑) และศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทางเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น (สาย ๒) ในระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๙ มิ.ย.๖๘
พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการเดินทาง ร่วมกับ การศึกษาดูศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทางเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่นของนายทหารนักเรียน หลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ ในระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๙ มิ.ย.๖๘
- เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) เดินทางไปยังปูซาน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เข้าเยี่ยมชมอู่ต่อเรือฮุนได Hyundai Heavy Industries Ulsan Shipyard ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมต่อเรือระดับโลก การดำเนินงานของ Hyundai Heavy Industries Ulsan Shipyard สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมหนักยุคใหม่ของเกาหลี และสามารถขยายกิจการไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ได้ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้ง HD Hyundai ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักแบบบูรณาการ นอกจากนี้ ยังมีวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่การเป็น "ผู้สร้างอนาคต" ด้วยการมองไปทางทะเล ด้วยเรือแห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น การขนส่งแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยี AI ควบคู่กับการพัฒยาพลังงานสะอาด ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยรวมของการค้าโลก
หลังจากนั้น เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปูซาน Busan National Science Museum ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในหลากหลายด้านและวิทยาศาสตร์ที่นำสมัย และเดินทางไปเยี่ยมชมวัดแฮดงยงกุงซา วัดชื่อดังแห่งเมืองปูซานที่สร้างบนโขดหินริมชายหาด ในจังหวัดคยองซังใต้ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงาม เหมาะสำหรับการมาชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และมักเป็นสถานที่ ซึ่งเหล่าพุทธศาสนิกชนในเกาหลี พากันมาอธิษฐานขอพรในวาระต่างๆ รวมไปถึงในวันขึ้นปีใหม่ - เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ สุสานอนุสรณ์สหประชาชาติ (United Nations Memorial Cemetery Korea) สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและเป็นการรำลึกถึง ทหารของสหประชาชาติจาก ๑๖ ประเทศและองค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือในการสู้รบ ในระหว่างสงครามเกาหลี (ค.ศ. ๑๙๕๐ - ค.ศ.๑๙๕๓) ซึ่งทำให้มีทหารสูญเสียชีวิตจำนวน ๒,๒๘๙ นาย และอีก ๑๑ นายที่ถูกสังหารในฐานะเชลยศึก โดยที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น มรดกทางวัฒนธรรมลำดับที่ ๓๕๙ โดยสำนักงานมรดกทางวัฒนธรรมแห่งประเทศเกาหลีใต้ โดยและ มีการสร้างกำแพงแห่งความทรงจำ (The Wall of Remembrance) ซึ่งเป็นกำแพงหินอ่อน ที่สลักรายชื่อทหารที่ถูกสังหาร และหายตัวไปในระหว่างสงครามจำนวนถึง ๔๐,๘๖๙ รายชื่อ รวมถึงทหารจากประเทศไทยด้วย
จากนั้นเดินทางศึกษาภูมิประเทศชมสะพานกระจกโอรยุคโด ซึ่งเป็นสะพานชมวิวที่ตั้งอยู่บนหน้าผาของเกาะโอรยุคโด ในเมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อันมีพื้นสะพานเป็นกระจกใส ทำให้ผู้ที่เดินบนสะพานสามารถชมความสวยงามมองเห็นวิวทะเลและเกาะโดยรอบได้อย่างชัดเจน
- เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) ศึกษาภูมิประเทศเยี่ยมชมหมู่บ้านวัฒนธรรมคัมชอน เป็นหมู่บ้านที่เกิดจากการตั้งรกราก ย้ายถิ่นฐานของชาวเกาหลี ซึ่งหนีภัยจากสงครามเกาหลี ด้วยลักษณะการสร้างบ้านเรือนผ่านถนนทุกสาย ที่เรียงรายไปตามแนวภูเขา จนเป็นขั้นบันไดที่เป็นระเบียบ และดูสวยงามแปลกตา ประกอบกับสีสันที่สลับไปมาของตัวบ้านและหลังคา จึงกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้ จนได้รับฉายาว่า “มาชูปิกชูแห่งปูซาน” รวมถึงการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังจากศิลปินที่สวยงามจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก
- เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) เข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์แผ่นดินไหวโกเบ” (Kobe Earthquake Memorial Museum) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันบรรเทาภัยพิบัติและการฟื้นฟูชีวิตมนุษย์ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ในโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๕,๐๐๐ คน และบ้านเรือนเสียหายนับหมื่นหลัง และเพื่อให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชมเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและการป้องกันภัยพิบัติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโรงภาพยนตร์จอใหญ่ที่มีภาพสมจริงเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟู ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และเกมโต้ตอบต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ
- เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) ศึกษาภูมิประเทศ ณ อาราชิยามะ เมืองเกียวโต ชมสะพานโทเก็ตสึเคียว สะพานข้ามแม่น้ำคัตสึระที่เป็นสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงของอาราชิยามะ และยังเป็นจุดชมซากุระ และใบไม้เปลี่ยนสีที่งดงามแห่งหนึ่งในเกียวโต ชมป่าไผ่อาราชิยามะที่เรียงรายขนานไปกับเส้นทางเดินรอบด้านปกคลุมไปด้วยต้นไผ่เขียวชอุ่มอย่างหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ จากนั้นเดินทางไปยังวัดคิโยมิซุ หรือ วัดน้ำใส อันเป็นมรดกโลกประเทศญี่ปุ่นเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเกียวโต ซึ่งมีที่มาจากน้ำ ๓ สายที่ไหลลงมาจาก น้ำตกโอโตวะ เชื่อว่าเป็นสายน้ำที่มีความใสสะอาดบริสุทธิ์ และสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปได้ค่ะ ซึ่งแต่ละสายนั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป สายที่ ๑ จะให้พรในเรื่องของการสำเร็จการศึกษา สายที่ ๒ ให้พรในเรื่องของความรักที่สมหวัง ส่วนสายที่ ๓ ให้พรในเรื่องของสุขภาพและอายุที่ยืนยาว ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมมาดื่มน้ำแต่ละสายเพื่อความเป็นสิริมงคล
- เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) ศึกษาภูมิประเทศ ณ ทะเลสาบคาวากูจิโกะ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าทะเลสาบที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟฟูจิ และเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปีจากความสวยงามในแต่ละฤดู เข้าชมความงามของสวนโออิชิ สวนดอกไม้ม้ริมทะเลสาบคาวากูจิโกะที่เป็นแหล่งเพาะปลูกดอกไม้กว่า ๙๐ ชนิด ที่หมุนเวียนมาปลูกแตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดูกาล และมีทางเดินให้เดินเล่นชมทุ่งดอกไม้ โดยมีวิวของทะเลสาบคาวากุจิโกะ และฟูจิซังเป็นฉากหลัง
เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) เข้ารับฟังการบรรยายสรุปจาก คุณชวนิศ ชวนะวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เรื่องความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งร่วมรับฟังการบรรยายสรุปจาก นาวาอากาศเอกวงศ์วิวัฒน์ วัมนวรางกูร ผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทย ณ กรุงโตเกียว ในประเด็นด้านการทหารและความมั่นคงในมุมมองของประเทศญี่ปุ่น จากนั้น เดินทางสู่ “โรงเรียนเสนาธิการกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น” โดยร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “ความร่วมมือในการรับมือภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (HA/DR) ระหว่างกองทัพอากาศญี่ปุ่นและกองทัพอากาศไทย” (Initiatives of the Japan Air Self-Defense Force and the Royal Thai Air Force in Humanitarian Assistance and Disaster Relief) ซึ่งได้รับฟังประสบการณ์แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนายทหารนักเรียนประเทศญี่ปุ่น และถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอันเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต - เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศตรีวิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และคณะนายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๒) เดินทางกลับจากการศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศ
ทีมกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ รร.สธ.ทอ.ยศ.ทอ.รุ่นที่ ๖๙
อ่านเพิ่มเติม: การศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทางเกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น (สาย ๒)
พิธีวันคล้ายวันสถาปนา โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ครบรอบปีที่ ๗๖ และพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ “ จักรพงษ์” แก่ศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๖๘
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๘ พลอากาศโท วรชาติ ทองศิริ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และ พลอากาศตรี วิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ให้การต้อนรับ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี, พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ รวมทั้งอดีต ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ครบรอบปีที่ ๗๖ และพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ “ จักรพงษ์” แก่ศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๖๘ จำนวน ๒ ท่าน ได้แก่
๑. พลอากาศเอก ชานนท์ มุ่งธัญญา ตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
๒. พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๘
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ พลอากาศตรี วิสูตร อินทร์ขำ ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ พร้อมด้วยครูเสธ นายทหารนักเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ และข้าราชการสังกัดโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๘
ประกอบด้วยพิธีถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จัดแสดงพระธรรมเทศนาเทิดพระเกียรติ โดย พระมหาศุชัยกรณ์ สิทฺธิเมธี ป.ธ.๙ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และกิจกรรมบริจาคโลหิต ณ กองบริการโลหิต รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
ทั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
-----------------------
ทีมกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ รร.สธ.ทอ.ยศ.ทอ.รุ่นที่ ๖๙
อ่านเพิ่มเติม: กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี...
การศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทาง ญี่ปุ่น - เกาหลีใต้ (สาย ๑)
นาวาอากาศเอก สมาน มูลกัน รองผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการเดินทางในการศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทาง ญี่ปุ่น - เกาหลีใต้ ของคณะนายทหารนักเรียน หลักสูตรเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ ๖๙ (สาย ๑) จำนวน ๔๗ นาย ในระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๙ มิ.ย.๖๘ เพื่อเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษากำลังอำนาจแห่งชาติจากประเทศสำคัญของภูมิภาค
ในการเดินทางครั้งนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้จากสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ของกองทัพอากาศไทย โดยสถานที่สำคัญที่คณะได้เข้าเยี่ยมชม มีดังนี้
- Japan Aerospace Exploration Agency หรือ สำนักงานสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก จุดประสงค์ของการเข้าเยี่ยมชมคือเพื่อศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยในด้านการสำรวจอวกาศ เช่น โครงการอวกาศสำรวจดาวอังคาร เครื่องส่งสัญญาณ และเทคโนโลยีด้านดาวเทียม
- พิพิธภัณฑ์การบินโตคอร์โระซาวะ (Tokorozawa Aviation Museum) ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการบินของญี่ปุ่น ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงหุ่นจำลองอากาศยานและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางอากาศ
- พิพิธภัณฑ์โตโยต้า ณ เมืองนาโกย่า ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ที่นี่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบริษัท รวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ล้ำสมัย
- วัดโอสึคันนังและวัดคินคะคุจิ (วัดทองคำ) เป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณและความงดงามของศิลปะญี่ปุ่น มีความสำคัญด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเป็นเครื่องเตือนใจในเรื่องความสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
พิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหวโกเบ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านภัยพิบัติและการรับมือกับแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติรุนแรงของญี่ปุ่น การเข้าใจการรับมือและการฟื้นฟูจากภัยธรรมชาตินี้เป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนด้านความมั่นคงและการพัฒนาระบบรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น - สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครโอซากา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทูตและสนับสนุนประชาชนชาวไทยในพื้นที่ ในโอกาสนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายจากเจ้าหน้าที่กงสุล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการทูต การสนับสนุนด้านความช่วยเหลือให้แก่ชาวไทยในพื้นที่ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์จากผู้ปฏิบัติงาน
ในประเทศเกาหลีใต้ คณะได้เข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปูซาน ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในนวัตกรรมและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมชม วัดแฮดงยงกุงซา ซึ่งตั้งอยู่บนโขดหินริมชายหาดในเมืองปูซาน วัดนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงาม และเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่สะท้อนความสวยงามและวัฒนธรรมของชาวเกาหลีใต้
นอกจากนี้ คณะได้ศึกษาดูงานบริษัท KAI (Korea Aerospace Industries) ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของเกาหลีใต้ โดยบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องบินรบแบบ T-50 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบและมีเครื่องบิน T-50 ประจำการในกองทัพอากาศ การศึกษาดูงานครั้งนี้ช่วยให้เข้าใจเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมในการพัฒนาอากาศยาน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้หรือพัฒนาศักยภาพด้านการบินของไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านเพิ่มเติม: การศึกษาภูมิประเทศต่างประเทศเส้นทาง ญี่ปุ่น - เกาหลีใต้ (สาย ๑)
หน้าที่ 1 จาก 7